Climate change เป็นสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวของทุก ๆ คน และคนส่วนใหญ่เพียงแค่ได้ยินผ่าน ๆ ไม่เคยสังเกตหรือคิดว่าจะได้รับผลกระทบกันในอนาคตอันใกล้ แต่ตอนนี้ ผลกระทบของ Climate change เริ่มจะส่งผลให้เห็นอย่างชัดเจนในปีนี้แล้ว
หลาย ๆ คนอาจจะได้ข่าวกันมาบ้างแล้วกับน้ำท่วมครั้งใหญ่ในหลาย ๆ ประเทศที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินและชีวิตมากมาย ไม่ว่าจะเป็นที่มณฑลเหอหนาน ประเทศจีน ที่มีฝนตกหนัก และในพื้นที่บางส่วนมีระดับน้ำฝนมากที่สุดในรอบ 5,000 ปี
หรือว่าจะเป็นที่เยอรมนีและเบลเยี่ยม ที่มีน้ำท่วมหนักเกิดจากฝนที่ตกหนักเช่นเดียวกัน ซึ่งเป็นอุทกภัยครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 100 ปีที่ผ่านมา และอีกตัวอย่างหนึ่งของอุทกภัยครั้งใหญ่ในระลอกนี้คือที่ลอนดอน ประเทศอังกฤษ ที่เกิดน้ำท่วมจนกระทบถึงการให้บริการของโรงพยาบาล ซึ่งทั้งหมดนี้ก็เกิดจากผลกระทบของน้ำท่วมโลกทั้งสิ้น และแม้แต่ประเทศไทยเองก็อาจจะได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน
เหตุผลที่เกิดปัญหาอุทกภัยทั่วโลกในเวลานี้เกิดจากการที่ฝนตกมากขึ้น เกิดพายุที่รุนแรงขึ้น มีธารน้ำแข็งละลายมากขึ้น รวมไปถึงการที่โครงสร้างการก่อสร้างไม่แข็งแรงมากพอที่จะรับความรุนแรงของภัยพิบัติกระแสน้ำ
ความเสี่ยงของการเกิดอุทกภัยนั้นมีทั่วโลก แต่แต่ละประเทศมีความเสี่ยงและความรุนแรงในการได้รับผลกระทบไม่เท่ากัน โดยประเทศในแถบเอเชียตะวันออกและเอเชียใต้นั้นมีความเสี่ยงในการได้รับผลกระทบสูงสุด
สิ่งที่เราสังเกตได้จากกราฟคือ ประเทศที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลต่ำหรือติดลบนั้นจะมีโอกาสได้รับผลกระทบสูงมาก เช่น เนเธอร์แลนด์ ที่มีพื้นที่ระดับต่ำกว่าน้ำทะเล แต่กลับไม่มีข่าวความเสียหายจากน้ำท่วม นั่นเป็นเพราะว่า ประเทศเนเธอร์แลนด์มีการจัดการและรับมือน้ำท่วมอย่างดี เนื่องจากประเทศเนเธอร์แลนด์เป็นประเทศที่พบกับปัญหาน้ำท่วมบ่อย จนมีการรับมือและการเตรียมพร้อมที่ดี
ดังนั้น การรับมือและเตรียมพร้อมกับภัยพิบัติที่กำลังมาถึงนั้นจึงเป็นเรื่องสำคัญ ผู้เขียนจึงหวังว่าทุกคนที่ได้อ่านบทความจะตระหนักและสามารถปรับตัวกับภาวะ Climate change ได้อย่างทันท่วงที
ผู้เขียน เธียรวิชญ์ สิริสาครสกุล
13 สิงหาคม 2564
อ้างอิง
https://www.youtube.com/watch?v=QiUc94BN7HA&t=10s
https://blogs.worldbank.org/climatechange/147-billion-people-face-flood-risk-worldwide-over-third-it-could-be-devastating